❤ シァパーコンー 大学区 です!!❤

 

 

 

กำจัดจุดอ่อน-สร้างศิลปะชาติ รับขวัญ 62 ปี ม.ศิลปากร 

 

สังคมไทยรู้จัก "มหาวิทยาลัยศิลปากร" ในฐานะเป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงทางศิลปะ แล้วยังคุ้นเคยดีเพราะเป็นแหล่งกำเนิดชีวิตเรื่องราวในวรรณกรรม ละครทีวี และภาพยนตร์หลายเรื่อง ไม่ว่า "ความรักครั้งสุดท้าย" "กลิ่นสีกาวแป้ง" "น้ำใสใจจริง" และ "ความรักออกแบบไม่ได้"

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ จะมีสักกี่คนที่รู้ว่ามหาวิทยาลัยศิลปากร เผชิญชะตากรรมเรื่อง *ขาดที่ดิน* มาช้านานจนเข้าสู่ภาวะวิกฤตในขวบปีที่ 62 นี้

 

 

นับจากปัญหาเริ่มแรกคือถิ่นกำเนิดที่ "วังท่าพระ" ในกรุงเทพฯ ไม่สามารถขยายตัวออกไปได้อีก เพราะจะบดบังทัศนียภาพพระบรมมหาราชวัง จึงต้องไปเช่าที่ดินที่พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม เป็นวิทยาเขตที่ 2 แต่กระนั้นก็ยังไม่พอเพียงในการรองรับการพัฒนาและการเติบโตของมหาวิทยาลัย

 

 

เพราะเดิมกำหนดให้มหาวิทยาลัยศิลปากรใช้ที่ดินเต็มพื้นที่ทั้ง 888 ไร่ แต่ทุกวันนี้ยังถูกจำกัดให้อยู่เพียงครึ่งพื้นที่ ส่งผลให้ต้องแตกกระจายวิทยาเขตออกไปอีกถึง 4 แห่ง ต้องสูญเสียงบประมาณไม่ใช่น้อยในการติดต่อประสานงานระหว่างวิทยาเขตในแต่ละวัน

ค่าเช่าที่ดินปัจจุบันเพิ่มขึ้นตามราคาประเมินที่ดิน เดิมปีละ 2 ล้านกว่าบาท ผ่านมาไม่กี่ปีเป็นปีละ 19 ล้านกว่าบาท ทั้งๆ ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรมิใช่สถาบันเพื่อการแสวงหากำไร แต่เป็นสถาบันเพื่อยังประโยชน์ทางการศึกษาให้แก่คนในชาติ


 

62 ปีของมหาวิทยาลัยศิลปากร จึงเป็นปีแห่งการขาดแคลนพื้นที่เพื่อพัฒนาสถาบัน และยิ่งกลายเป็นข่าวครึกโครมทางหน้าหนังสือพิมพ์เมื่อไม่นาน เมื่อเกิดนโยบายจะทุบห้องทำงานเดิมของ *อาจารย์ศิลป์ พีระศรี* ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ควรอนุรักษ์ไว้ เพื่อขยายเป็นห้องทำงานของเจ้าหน้าที่ สร้างความหดหู่ให้กับชาวศิลปากรทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันไม่น้อย

ปัญหาการขาดพื้นที่ที่เป็นของตนเอง มิใช่เป็นเรื่องเพียงแค่ตัวเงิน แต่ปัญหาแท้จริงอยู่ที่การขาดเสถียรภาพและขาดความมีอิสระในการใช้ที่ดิน ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญยิ่งต่อการลงทุนและการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของชาติในอนาคต

 

แม้ทุกวันนี้มหาวิทยาลัยศิลปากรยังมิทันออกนอกระบบ ปัญหาการขาดที่ดินก็กลายเป็นปมยุ่งเหยิงเกินแก้ไขแล้ว ไม่ว่าจะเป็นที่ตั้งสำนักงานอธิการบดีที่ตลิ่งชัน ซึ่งทุกวันนี้กลายเป็นการอาศัยที่ดินของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ที่ได้กลายเป็นองค์การมหาชนไปแล้ว

ปัญหาเรื่องที่ดินของมหาวิทยาลัยศิลปากรไม่จบแค่นั้น ทั้งวิทยาเขตวังท่าพระ และวิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ขณะนี้ได้กลายเป็นชุมชนแออัดจากนักศึกษาจำนวนเกินหมื่น วิทยาเขตที่เพชรบุรี ก็อยู่ในสภาพไม่ต่างกัน เพราะมีพื้นที่จำกัด ส่งผลให้แต่ละคณะไม่มีที่ดินพอเพียงสำหรับโครงการวิจัยและการสร้างสถานีปฏิบัติการสำหรับนักศึกษา โดยเฉพาะคณะสัตวศาสตร์ และเทคโนโลยีการเกษตร

 

ปัญหาเรื่องการขาดพื้นที่ของมหาวิทยาลัยยังนำไปสู่การใช้จ่ายงบประมาณแบบไม่คุ้มทุนอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างล่าสุด คืองบฯก่อสร้างอาคารเพื่อศิลปกรรมไทยร่วมสมัย จำนวน 70 ล้านบาท ยังหาพื้นที่เช่าในกรุงเทพมหานครไม่ได้ ทางออกเดียวคือไปสร้างที่พระราชวังสนามจันทร์ นครปฐม เบียดตัวอยู่หลังอาคารศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติ ทำให้เกิดสภาพ NPB (non performance building) หรือเป็นการลงทุนที่ไม่สร้างประโยชน์ตอบแทนตามมา เพราะแม้แต่ตัวอาคารศูนย์ศิลปะดังกล่าว ซึ่งตั้งตระหง่านมานานกว่า 5 ปีแล้ว ณ วันนี้ก็ยังปิดตัวเงียบ

ปัญหาการขาดพื้นที่ยังนำไปสู่การขาดเอกภาพในการบริหารจัดการ และไม่เป็นไปตามแผนแม่บทที่เคยกำหนดให้พื้นที่วังท่าพระทั้งหมด 7 ไร่เศษ เป็นศูนย์รวมหอศิลป์ของมหาวิทยาลัย

แต่คณะวิชาต่างๆ ที่มีอยู่เดิมไม่สามารถย้ายออกไปได้ แม้แต่วิชาโบราณคดีและภาษาต่างๆ ซึ่งไม่มีความจำเป็นที่จะต้องนั่งเรียนอยู่ที่วังท่าพระ เหตุที่ย้ายไม่ได้ เพราะไม่มีที่ที่เหมาะสม

 

 

อันที่จริงมหาวิทยาลัยศิลปากรมีความพร้อมในการจัดทำหลักสูตรแบบบูรณาการที่สามารถก้าวทันโลกนวัตกรรมยุคใหม่ เพราะมีความหลากหลายของสาขาวิชา เป็นหลักสูตรที่สามารถเติมจินตนาการให้เป็นจริง นำไปสู่การพัฒนาชาติด้านสิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ ทรัพย์สินทางปัญญา และผลิตภัณฑ์แนวใหม่ ที่ตรงกับศักยภาพของไทยโดยใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีบูรณาการกับสุนทรียศาสตร์

เช่น การบูรณาการระหว่างสาขาวิชาเคมีกับเซรามิค ฟิสิกส์กับศิลปะการแสดง วิศวะกับการออกแบบอุตสาหกรรมศิลป์ทุกแขนง คอมพิวเตอร์กับทัศนศิลป์(แอนนิเมชั่นชั้นสูง) ไบโอเทคกับภูมิสถาปัตย์ คณิตศาสตร์กับภาพยนตร์และดนตรี เภสัชศาสตร์กับศิลปะจัดวาง โบราณคดีกับไอซีที โบราณคดีกับสิ่งแวดล้อม สัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตรกับการท่องเที่ยวและวิทยาการจัดการ โดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับ DNA นิติวิทยาศาสตร์และการแสดงออกทางศิลปกรรมแนวใหม่ และอื่นๆ อีกมาก

หลักสูตรบูรณาการดังกล่าวสามารถตอบสนองความต้องการของสังคม สามารถสร้างงานสร้างรายได้และตรงกับนโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยเฉพาะการปฏิรูปการศึกษาและการสร้างนวัตกรรมที่เป็นรูปธรรม ซึ่งจะทำให้เป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัยที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุด อีกทั้งช่วยลดการขาดดุลเรื่องการศึกษาต่อต่างประเทศอีกด้วย

ศักยภาพที่ซ่อนตัวสำคัญอีกประการ คือ มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นผู้ถือครองทรัพย์สินทางปัญญาที่มีมูลค่ามหาศาลมานานกว่า 5 ทศวรรษ โดยเฉพาะผลงานศิลปกรรมชั้นเยี่ยมหลากชนิดที่มีมากล้นจนไม่มีที่จะเก็บ

หากรัฐบาลใส่ใจและเข้าใจได้ว่าศิลปะของชาติดังกล่าว คือต้นทุนทางปัญญาของสังคมที่สามารถนำมาบริหารจัดการเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้อเนกอนันต์ เช่นเดียวกับประเทศฝรั่งเศส ที่ใช้ผลงานศิลปะทุกแขนงมาดำเนินการช่วยยกระดับจิตใจ และขยายพรมแดนทางปัญญาให้แก่คนในชาติได้อย่างวิเศษ ส่งผลต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว แฟชั่น ภาพยนตร์และนวัตกรรมศิลป์ จนสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศเกินครึ่งของรายได้ประชาชาติทั้งประเทศ

ปัญหาการขาดที่ดินของมหาวิทยาลัยศิลปากร จึงเท่ากับเป็นการสูญเสียโอกาสที่จะพัฒนาศักยภาพความหลากหลายของสาขาวิชาการ และทรัพย์สินทางปัญญาที่สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศได้อย่างมหาศาล

วิธีการแก้ปัญหาอาจทำได้หลายวิธี แต่วิธีหนึ่ง คือ รัฐบาลต้องเป็นเจ้าภาพ โดยมีผู้แทนสภาพัฒน์ ทีดีอาร์ไอ อธิบดีกรมที่ดิน นายกสภาอุตสาหกรรมฯ และผู้มีวิสัยทัศน์ระดับเกจิของประเทศ ร่วมเป็นที่ปรึกษากับสภามหาวิทยาลัย จัดการผ่าตัดปฏิรูปโครงสร้างซึ่งกระทบกับผลประโยชน์ทับซ้อน ปัญหาวัฒนธรรมองค์กร การคิดติดกรอบหรืออัตวิสัย ซึ่งเกินกำลังคนภายในที่จะทำให้เกิดจุดเปลี่ยนได้โดยลำพัง

และควรดำเนินการให้พื้นที่วังท่าพระได้รับการปรับให้เป็นศูนย์รวมหอศิลป์ร่วมสมัยของชาติที่ยังเป็นสมบัติของมหาวิทยาลัย โดยการหาพื้นที่ที่เหมาะสมให้เป็นที่ตั้งใหม่ของคณะวิชาต่างๆ แทนที่จะย้ายออกไป วิธีการนี้ถือเป็นยุทธศาสตร์ชาติที่ก่อประโยชน์ให้แก่ประเทศและสังคมอย่างมาก เพราะเป็นทำเลเยี่ยมที่ติดกับพระบรมมหาราชวัง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และเชื่อมต่อกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หากปรับวิธีให้นักท่องเที่ยวเข้าชมทั้ง 3 แห่ง ถือหลักชมนานจ่ายถูก ปีหนึ่งๆ มีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมากกว่า 10 ล้านคน จะเป็นเงื่อนไขวิเศษที่สร้างรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่อคนต่อปีเป็นจำนวนมหาศาล

เม็ดเงินเหล่านี้ย่อมกระจายอยู่ทุกอาชีพของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว นับแต่สังคมระดับรากหญ้าจนถึงผลประโยชน์ของมหาวิทยาลัย และเป็นที่เชิดหน้าชูตาศิลปินและประชาชนไทย

มหาวิทยาลัยศิลปากรสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างมีเอกภาพ และเป็นพลังปัญญาให้แก่ชาติบ้านเมือง เช่น การสร้างศูนย์วัฒนธรรมในมิติต่างๆ ที่เป็นแหล่งต้นทุนทางปัญญาอย่างยั่งยืน โดยใช้ทรัพยากรที่มหาวิทยาลัยศิลปากรมีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับที่ฝรั่งเศสสร้างศูนย์วัฒนธรรมจอร์จ ปอมปิดู และญี่ปุ่นสร้างอุทยานศิลปะฮาโกเน่ สิงคโปร์กำลังสร้างศูนย์ไบโอโพลิสและศูนย์ศิลปะอาเซียน อินโดนีเซียสร้างนิคมศิลปินอูบุต ที่เกาะบาหลี เป็นต้น

หากมีศิลปินรวมตัวกันตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ไหน มิช้านานนักท่องเที่ยวจะตามกันไป ตัวอย่างในบ้านเราพอมีให้เห็น เช่น บ้าน "ดำนางแล" ของคุณถวัลย์ ดัชนี กับ "วัดร่องขุ่น" ของเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ สร้างที่จังหวัดเชียงราย

มากกว่า 6 ทศวรรษแล้วที่มหาวิทยาลัยศิลปากรมีชื่อเสียงด้านศิลปะ แต่ความเชื่อมโยงทางศิลปะสู่สังคมนั้นแคบมาก ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลและสังคมควรจะได้รับทราบอุปสรรคและศักยภาพของมหาวิทยาลัยศิลปากร เพราะหากร่วมกันแก้ปัญหาต่างๆ ที่กล่าวมาได้

ประโยชน์จะเกิดมหาศาลแก่ชาติบ้านเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับลูกหลานคนไทย ที่ต้องทำหน้าที่สืบสานรักษารากเหง้าเหล่านี้ของไทยให้อยู่ต่อไปตราบนานเท่านาน

 
จากหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 15 กันยายน 2548 หน้า 33

ヒトエ より